วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

นมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

นมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์จำเป็นจริงหรือ
     ทุกวันที่เราชมสือโฆษณาก็จะเห็นว่าเน้นย้ำให้คุณแม่ดื่มนมเพื่อลูกในครรภ์ จำเป็นมั๊ยที่คนท้องต้องดื่มนม ตอบได้เลยว่าไม่จำเป็น แต่ควรดื่มบ้าง
ทำไมคนท้องต้องดื่มนม
     เพื่อลูกและเพื่อตัวเอง คนท้องต้องการสารอาหารและแร่ธาตุต่างๆ เช่น แคลเซียมเพิ่ม เพื่อสร้างกระดูกของลูก และป้องกันโรคกระดูกพรุนในอนาคต
ควรดื่มนมมากน้อยแค่ไหน
     การดื่มนมไม่ว่าจะเป็นนมสำหรับคนท้อง นมโค นมแพะ โยเกิตร์ นมเปรี้ยว สำคัญอยู่ที่ว่าปกติก่อนท้องคุณดื่มนมหรือเปล่า ถ้าปกติดื่มนมอยู่แล้วเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ก็ดื่มต่อไปอาจจะเพิ่มปริมาณจากวันละแก้วเป็น 2 แก้วได้ หรือดื่มสลับกันระหว่างนมชนิดต่างแก้เบื่อ
     แต่ถ้าปกติคุณแม่ไม่ดื่มนมหรือรับประทานผลิตภัณฑ์จากนม การโหมดื่มนมเมื่อตั้งท้องคงไม่ดีแน่ เพราะมีงานวิจัยที่ชี้ว่าแม่ที่ปกติไม่ดื่มนม เมื่อตั้งครรภ์แล้วดื่มนมเป็นปริมาณมาก จะทำให้มีโอกาสคลอดลูกที่แพ้โปรตีนนมวัว
แพ้นมวัวน่ากลัวหรือไม่
     การแพ้โปรตีนนมวัวมีความรุนแรงอยู่หลายระดับ เด็กบางคนแพ้มากเมื่อดื่มนมวัวก็จะมีผื่นขึ้นรอบปาก บางรายก็แพ้น้อยอาจจะมีอาการหายใจขัด มีน้ำมูก ร้องไห้โยเย้ นอนกรน บางรายดื่มนมวัวไปหลายเดือนถึงจะมีอาการ โรคแพ้โปรตีนนมวัวเป็นสาเหตุหนึ่งให้เป็นโรคหอบหืด โรคปอด
     แม้โรคแพ้โปรตีนนมวัวจะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง แต่ส่งผลต่อสุขภาพในอนาคต เนื่องจากเด็กจะนอนหลับไม่สนิทซึ่งขัดขวางพัฒนาการของสมอง เป็นหวัดง่าย และมีอาการแพ้อีกสารพัดตามมา
     เด็กที่แพ้โปรตีนนมวัวเป็นเด็กที่น่าสงสาร เพราะของอร่อยหลายชนิดมีส่วนผสมของนมวัว ทุกครั้งที่จะให้ลูกทานขนมต้องอ่านฉลากอย่างละเอียดว่ามีส่วนผสมของนมวัวหรือไม่
อะไรบ้างที่เรียกว่าผลิตภัณฑ์จากนมวัว
     นมวัวแปลงร่างได้หลากหลายและแสนอร่อยตั้งแต่ นมสด นมพร่องมันเนย นมข้นหวาน นมข้นจืด นมจืด นมผง หางนมผง เวย์ ชีส เนยสด ซึ่งเป็นส่วนผสมอยู่ในขนมเค้ก คุกกี้ ไอศครีม เวเฟอ พิชซ่า มันบด ซุปข้น อาหารตะวันตกส่วนใหญ่จะมีส่วนประกอบของนมวัว การเลี้ยงลูกที่แพ้นมวัวโดนไม่ทำร้ายจิตใจเด็กจึงเป็นเรื่องยาก แถมด้วยผู้ใหญ่ใจดีทั้งหลายที่ชอบให้ขนมเด็ก กินเข้าไปแต่ละครั้งไม่สบายกันข้ามอาทิตย์ เด็กแพ้นมวัวส่วนใหญ่จะแพ้อีกหลายๆ อย่าง เช่น 
- แพ้อาหารทะเล พวกกุ้ง หอย ปู ทานได้แต่ปลา บางรายอาจพ่วงแพ้ไข่แดงไปด้วย
- แพ้ถั่วเปลือกแข็งโดยเฉพาะถั่วลิสง อัลมอลล์ แต่พวกถั่วแดง ถั่วเหลือง ถั่วขาว ถั่วเขียว ถั่วดำทานได้ 
- แพ้ฝุ่น แพ้ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ แพ้อากาศ ทานของเย็นต่างๆ ไม่ได้
รู้ได้อย่างไรว่ามีโอกาสคลอดลูกที่แพ้นมวัว
     ยังไม่มีงานวิจัยที่ชี้ได้แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุอะไร แต่ให้สังเกตได้จากบุคคลในครอบครัว 
- ถ้าลูกคนแรกแพ้นมวัวมีโอกาสสูงที่คนถัดไปจะแพ้นมวัว (แต่อาการไม่รุนแรงเท่าเพราะเฝ้าระวังได้) 
- ลูกของพี่หรือน้องแพ้นมวัว ก็ให้เฝ้าระวังไว้
- ตัวคุณพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้
     ถ้าปกติคุณไม่ดื่มนม หรือดื่มนมแล้วท้องเสีย ท้องอืด ไม่สุขสบายเมื่อดื่มนม ไม่ควรโหมดื่มนมเมื่อตั้งครรภ์ ควรดื่มบางวันเว้นวัน แล้วไปเสริมสารอาหารที่จำเป็นจากอาหารชนิดอื่นๆ จะดีกว่าเพราะเลี้ยงลูกแพ้นมวัว ทรมานใจคุณแม่มากกว่าที่คิด 
(ประสบการณ์จากการเลี้ยงหลานแพ้นมวัว)

วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประสบการณ์ท้องแรก


ตั้งแต่รู้ตัวว่าท้องก็รีบไปหาหมอให้ยืนยันกลัวตัวทดสอบการตั้งครรภ์ไม่ชัวร์
คุณหมอคนแรก สอบถามประจำเดือนครั้งล่าสุดประมาณอายุครรภ์ แล้วให้ขึ้นไปนอนบนเตียงคลำท้องไป
คุณหมอ: "ท้องได้ 3 เดือนแล้วนิ"
คุณแม่  : (ง่ะได้ไง เพิ่งมีอะไรกะแฟนในรอบ 2 ปีมะเดือนที่แล้วเอง)
คุณหมอ: "เดี๋ยวซาวด์ดูดีกว่า นอนบนเตียงแล้วเปิดท้องด้วยน๊ะ"
คุณหมอเอาเจลบีบบนหน้าท้องเย็นมากๆ ค่อยเอาตัวอัลตร้าซาวด์ขยับไปขยับมา
คุณหมอ: อ๋อที่คลำเจอว่า 3 เดือนเป็นเนื้องอกขนาดประมาณ 8 ซม ตัวอ่อนน่าจะ 6 สัปดาห์
คุณหมอพูดไปแล้วก็ขยับจอให้คุณแม่ดูชี้ที่ก้อนเนื้อ แล้วก็ตัวอ่อน
     ตรวจเสร็จคุณหมอก็ให้ทิชชู่มาเช็ดเจลออกลงไปนั่งสอบถามอาการแพ้สั่งยาเป็นอันว่าเสร็จ แต่คุณแม่ยังงงอยู่เลย ท้องแล้วมีก้อนเนื้อกลับบ้านไปแบบมึนๆ พอถึงที่บ้านเลยโดนซักใหญ่มีเนื้องอกก้อนตั้ง 8 ซม. ทำไมไม่ถามหมอว่าอันตรายมั๊ย ทำไม...บร้าาาา ตอบมะได้ เลยต้องไปหาหมออีกคน

อีก 4 วันถัดมา
คุณหมอคนที่ 2 คนนี้ลูกทุ่งหน่อยเป็นอาจารย์หมอพูดเสียงดังฉาดฉานมาก
คุณหมอ: มาทำอะไร
คุณแม่  : มาตรวจท้องคะ ไปตรวจที่อื่นมาแล้วหมอบอกท้องแล้วมีเนื้องอกด้วย
คุณหมอ: อืม ขึ้นเตียงอัลตร้าซาวด์นะ
คุณแม่รีบขึ้นเขียง (เตียง) ตามคุณหมอสั่ง คุณหมอก็ซาวด์ดูขนาดตัวอ่อน เนื้องอก
คุณหมอ: ตัวอ่อนอยู่นี้ น่าจะประมาณ 8 สัปดาห์ เนื้องอกประมาณเกีอบๆ 10 ซม.นะ
คุณแม่ (ง่ะเพิ่งไปตรวจมาไม่ถึงอาทิตย์ทำไมลูกฉันกับเนื้องอกมันโตไวอย่างนี้) เช็ดเจลเสร็จก็ลงมานั่งเก้าอี้
คุณหมอ: เนื้องอกค่อนข้างใหญ่นะ ตอนนี้คงทำอะไรไม่ได้คงต้องรอดูว่าจะมีปัญหามั๊ย ตำแหน่งอยู่ด้านบนไม่น่าจะกดทับเด็ก...
     หมอวาดรูปให้ดูพร้อมอธิบายจนเข้าใจว่า ไม่น่าจะอันตรายมาก เพราะตำแหน่งเนื้องอกน่าจะโตออกนอกมดลูก ไม่ขวางทางตอนคลอด ไม่น่าจะกดทับเด็กจนโตไม่ได้ แล้วดูจากรูปแบบน่าจะไม่ใช้มะเร็ง ตอนนี้อาหารและเลือดส่วนใหญ่ไปเลี้ยงเนื้องอกอยู่ ต้องประคับประคองให้เจ้าตัวเล็กแย่งอาหารให้ได้มากๆ พอเจ้าตัวเล็กโตขึ้นเนื้องอกจะไม่มีอาหารอาจฝ่อไปเองก็ได้ แล้วก็นัดมาฝากครรภ์อีก 2 อาทิตย์ กลับบ้านอย่างโล่งใจตอบคนที่บ้านได้ซักที
     ต้องลุ้นอีกว่าเจ้าตัวเล็กจะปกติมั๊ย แล้วเสี่ยงที่แท้งต้องรอ 3 เดือนถึงจะมั่นใจได้ อยากเป็นลูกแม่ต้องต่อสู้ตั้งแต่อยู่ในท้อง

วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เจาะน้ำคร่ำ

ทำไมต้องเจาะน้ำคร่ำ
การเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจความผิดปกติของโครโมโซมของทารกในครรภ์ ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม
1.   ความผิดปกติกลุ่มดาวน์ (Down’s syndrome) โครโมโซมคู่ที่ 21 เกิน ลักษณะสำคัญของเด็กกลุ่มอาการดาวน์คือ จะมีโครงสร้างของใบหน้าและรูปร่างลักษณะที่จำเพาะ ซึ่งสามารถให้การวินิจฉัยได้โดยแพทย์ พยาบาลตั้งแต่แรกคลอด เด็กดาวน์จะมีศีรษะค่อนข้างเล็ก แบน และตาเฉียงขึ้น ดั้งจมูกแบน ปากเล็ก ลิ้นมักยื่นออกมา ลักษณะลิ้นคับปาก ตัวค่อนข้างเตี้ย มือสั้น ขาสั้น ตัวเตี้ย
มีความเสี่ยงโรคหัวใจแต่กำเนิดถึง 1 ใน 3, ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ทางเดินอาหารอุดตันร้อยละ 12, อาการความจำเสื่อมคล้ายกับอัลไซเมอร์ 20% ของผู้ที่มีความผิดปกติดังกล่าวจะเสียชีวิตภายในขวบปีแรก มีเพียง 45%ที่สามารถรอดชีวิตต่อไปถึงอายุ 60 ปีได้
ปัญหาที่สำคัญของ Down’s syndrome คือ ภาวะปัญญาอ่อน (IQ เฉลี่ยประมาณ 50) ควรมีการส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการให้เหมาะสมตามวัยตั้งแต่อายุน้อย เพื่อให้มีพัฒนาการและช่วยเหลือตัวเองได้ดีต่อไป เมื่อโตเข้าสู่วัยที่จะเรียนหนังสือได้ ควรตรวจ IQ เพื่อดูระดับสติปัญญา ในกลุ่มสติปัญญาต่ำเล็กน้อย ( IQ 51-70 ) อาจจะเรียนหนังสือได้ในชั้นเรียนพิเศษ ซึ่งปัจจุบันนอกจากจะมีอยู่ในโรงเรียนสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ในรายที่สติปัญญาต่ำปานกลาง ( IQ 35-50 ) อาจฝึกอาชีพได้ ถ้าต่ำมาก ( IQ 25-34 ) อาจได้เพียงฝึกการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน
2.   ความผิดปกติกลุ่มเอ็ดวาร์ด (Edward’s syndrome) โครโมโซมคู่ที่ 18 เกิน มีลักษณะผิดปกติที่สำคัญ คือ น้ำหนักน้อย ศีรษะและใบหน้ามีลักษณะเฉพาะ คือศีรษะยาวและท้ายทอยยื่น ใบหน้าใหญ่และเป็นเหลี่ยม ตาห่าง ปากแคบ ใบหูผิดปกติและอยู่ที่ต่ำ บางรายปากแหว่ง และเพดานโหว่ หลังคอเป็นลอน และมีการเกร็งของกล้ามเนื้อ แขนเกร็งอยู่ในท่างอ เท้างอขึ้นอาจมีความผิดปกติแต่กำเนิดของหัวใจและไต ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือประมาณร้อยละ 80 ที่พบเป็นหญิง มักตายตั้งแต่อายุยังน้อย
3.    ความผิดปกติกลุ่มพาโทส์ (Patau’s syndrome) โครโมโซมคู่ที่ 13 เกิน มีลักษณะผิดปกติที่สำคัญ คือ น้ำหนักน้อย ศีรษะเล็ก ตาเล็กหรือ ไม่มีตา ปากแหว่ง และเพดานโหว่ ตา 2 ข้างอยู่ห่างกัน มีรอยย่นที่หัวตา จมูกโต คางสั้น ใบหูเล็กผิดปกติและอยู่ต่ำ นิ้วมักเกิน หัวใจพิการแต่กำเนิด ไตผิดปกติ อาจมีอวัยวะภายในท้องอยู่กับซ้ายขวากัน เป็นต้น ทารกเหล่านี้จะเจริญเติบโตช้า ปัญญาอ่อน หูหนวก ส่วนมากตาบอดด้วยและมักตายตั้งแต่อายุยังน้อย อายุเฉลี่ยประมาณ 89 วัน
ใครบ้างต้องเจาะน้ำคร่ำ
1.   คุณแม่ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ขึ้นไปจะได้รับคำแนะนำให้เจาะน้ำคร่ำเพราะมีความเสี่ยงสูงมากกว่าคุณแม่ที่อายุน้อย
2.   มารดาที่เคยคลอดทารกที่มีกลุ่มอาการดาวน์หรือมีโครโมโซมผิดปกติรวมทั้งทารกที่มีความผิดปกติของรูปร่างหรืออวัยวะต่างๆโดยไม่ทราบสาเหตุในครรภ์ก่อน
3.  มารดาหรือบิดาที่มีความผิดปกติของร่างกายหรืออวัยวะต่างๆที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปยังทารกได้
4.    มีประวัติการแท้งบ่อย 
5.    ได้รับการตรวจโดยวิธีการทางชีวเคมีจากการตรวจเลือดคุณแม่แล้วได้ผลผิดปกติ 
6.    ตรวจพบความพิการภายนอกของทารกจากการอัลตราซาวนด์ 
7.    ตรวจพบว่าทารกในครรภ์โตช้า 
ควรเจาะน้ำคร่ำเมื่อไหร่?
แพทย์จะทำการเจาะน้ำคร่ำเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 15-20 สัปดาห์ ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสมในการตรวจและปลอดภัยสำหรับทารก แต่ถ้าเจาะตรวจช่วงที่อายุครรภ์มากเกินไป โดยเฉพาะถ้าเกิน 26 สัปดาห์ไปแล้ว ความล้มเหลวจากการเพาะเลี้ยงเซลล์จะมีมากขึ้น นอกจากนี้หากผลการตรวจผิดปกติการยุติการตั้งครรภ์เป็นไปได้ยาก เนื่องจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ และการรายงานผลการตรวจโครโมโซมจะใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์
ส่วนใหญ่นิยมทำที่อายุครรภ์ 18 สัปดาห์ ประเมินความเสี่ยงของการแท้งที่เกิดจากการเจาะน้ำคร่ำไว้ที่ประมาณ 1 ใน 200 หรือ 0.5% การรั่วของน้ำเพียงเล็กน้อยและมักหยุดได้เองภายใน 1 สัปดาห์พร้อมกับการมีปริมาณน้ำคร่ำเพิ่มขึ้นกลับมาเท่าปกติ

อันตรายโดยตรงต่อทารก

     โอกาสที่จะเกิดอันตรายโดยตรงต่อทารกจากเข็มเจาะนั้นมีน้อยมากหากใช้การเจาะน้ำคร่ำพร้อมอัลตราซาวนด์  ไม่พบว่ามีอันตรายโดยตรงต่อทารก

วันตรวจน้ำคร่ำเตรียมตัวอย่างไร

      คุณแม่และคุณพ่อมาโรงพยาบาลตามเวลานัด เพื่อชมวีดีทัศน์แนะนำการเจาะน้ำคร่ำประมาณ 15-20 นาที หลังจากนั้นต้องเซ็นชื่ออนุญาตให้แพทย์ทำการตรวจ

    พบแพทย์เพื่อตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อตรวจดู ลักษณะของทารก จำนวนทารกในครรภ์ รวมทั้ง ตรวจหาตำแหน่งของรกและปริมาณน้ำคร่ำ

       หลังจากนั้น แพทย์จะทำความสะอาดที่หน้าท้องของคุณแม่ในตำแหน่งที่จะเจาะน้ำคร่ำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อ ต่อมาแพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กแทงผ่านหน้าท้องและมดลูกเข้าไปในถุงน้ำคร่ำ ซึ่งคล้ายกับการเจาะเลือดตรวจหรือการฉีดยาเข้าร่างกาย โดยเห็นเข็มที่ใช้แทงได้จากจอภาพอัลตราซาวนด์ตลอดการแทงเข็มเพื่อไม่ให้เข็ม ไปถูกตัวทารกหรือสายสะดือทารก หลังจากนั้นแพทย์จะทำการดูดน้ำคร่ำออกมาประมาณ 15-20 ซีซี เพื่อส่งตรวจต่อไป เมื่อดูดน้ำคร่ำเสร็จแล้วแพทย์จะดึงเข็มออกจากหน้าท้องและตรวจอัลตราซาวนด์ อีกครั้งหนึ่งเพื่อดูว่าทารกยังปกติดีอยู่และให้ท่านดูด้วยว่าทารกยังปกติดี พยาบาลน้ำหลอดเก็บตัวอย่างน้ำคร่ำให้ดูเพื่อยืนยันชื่อว่าถูกต้อง   

      คุณแม่นอนพักในห้องรอตรวจ 30-60 นาที เพื่อรอพบแพทย์ตรวจอัลตราซาวนด์ อีกครั้งหนึ่งเพื่อให้คุณแม่ดูว่าทารกยังปกติดี หลังจากนั้นก็กลับบ้านได้

หลังจากเจาะน้ำคร่ำแล้วท่านควรปฏิบัติตัวอย่างไร?

        ในวันที่เจาะน้ำคร่ำ ท่านควรทำงานบ้านเบาๆได้ ไม่ควรให้เกิดการกระทบกระเทือนที่ท้องน้อยหรือมดลูก ควรงดเดินทางไกล ยกของหนัก มีเพศสัมพันธ์ หรือเดินช๊อบปิ้ง ในวันรุ่งขึ้นท่านสามารถปฏิบัติตัวได้ตามปกติที่เคยปฏิบัติ
ภายหลังจากการตรวจถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น เลือดออกทางช่องคลอด น้ำปนเลือดออกทางช่องคลอด ปวดท้องน้อยรุนแรง หรือมีไข้ให้รีบมาพบแพทย์ที่ท่านฝากครรภ์อยู่โดยเร็ว
การตรวจน้ำคร่ำมีขั้นตอนอย่างไรและจะทราบผลเมื่อไร?
        น้ำคร่ำที่ได้จะนำไปแยกเซลล์ของทารกเพื่อเพาะเลี้ยงและตรวจหาโครโมโซมของทารกต่อไป ในบางกรณีอาจนำน้ำคร่ำไปตรวจพิเศษหาค่าของโปรตีนชนิดหนึ่งคืออัลฟาฟีโต โปรตีนในกรณีที่สงสัยว่าทารกในครรภ์มีความผิดปกติของกะโหลกศีรษะหรือกระดูก สันหลัง โดยปกติแล้วผลของการตรวจหาโครโมโซมของทารกจะทราบผลภายใน สัปดาห์หลังจากทำการตรวจซึ่งแพทย์จะบอกผลการตรวจแก่ท่านหรือสามีโดยตรง
ถ้าผลโครโมโซมของทารกผิดปกติจะทำอย่างไรต่อไป
        ถ้าผลโครโมโซมของทารกผิดปกติ แพทย์จะให้คำปรึกษาแก่ท่านและสามีถึงผลการตรวจและความผิดปกติของทารกที่จะเกิดขึ้น การที่จะตั้งครรภ์ต่อไปหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของท่านและสามีเป็น สำคัญ โดยแพทย์ผู้ให้คำปรึกษาจะดูแลต่อไปตามความเหมาะสม ค่าโครโมโซมของทารกปกติก็ไม่ได้ยืนยันว่าอวัยวะของทารกจะปกติดีทั้งหมด เพราะความผิดปกติบางอย่างของทารกไม่สามารถบอกได้ด้วยผลโครโมโซมเพียงอย่าง เดียว อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆได้อีกด้วย
ค่าใช้จ่ายในการตรวจเจาะน้ำคร่ำเท่าไร?
       ค่าใช้จ่ายในการตรวจเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจหาโครโมโซมแตกต่างกัน ในแต่ละสถาบันที่ทำการตรวจสำหรับโรงพยาบาลของรัฐครั้งละประมาณ 4,000-5,000 บาท โรงพยาบาลเอกชนครั้งละประมาณ 8,000-12,000 บาท
 ข้อมูลอ้างอิง