วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2555

จัดการวายร้ายให้อยู่หมัด

จัดการจอม “วายร้าย”ให้อยู่หมัด (M&C แม่และเด็ก)


           หากลูกร้อง ลงไปนอนดิ้น ๆ กับพื้น คุณแม่ยอมเพราะเหตุผลอะไรก็ตามแต่ เด็กก็จะเรียนรู้แล้วว่าถ้าแม่ไม่ให้ ต้องลงไปนอนดิ้นเดี๋ยวก็ได้เอง คราวหน้าเค้าก็จะทำแบบเดิมอีก แต่ถ้าแม่ทำโทษเค้าด้วยการตีอย่างรุนแรงนั้น ถือเป็นการตอบสนองที่ไม่เหมาะสม

           ฮือ ๆๆ หนูไม่ยอม คุณแม่ทั้งหลายคงคุ้นเคย หรืออาจจะชาชินกับอาการกรีดร้อง โวยวายได้ทุกเรื่องทุกเวลาเมื่อเจ้าหนูไม่พอใจ เด็กวัย 2 ขวบ ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นจอมวายร้าย จอมต่อต้าน บอกอย่างทำอย่าง เขาจะยึดตัวเองเป็นหลัก ไม่ยอมใครหน้าไหน จนคุณแม่ ๆ ต้องยอมอ่อนให้เจ้าตัวน้อยทุกทีไป

           ถึงแม้ว่าการยอมเขาจะทำให้เสียงกรีดร้องนั้นเงียบลงได้ คุณแม่ไม่เหนื่อย แต่รู้ไหมว่า การตามใจหนูโดยไร้เหตุผลจะทำให้หนูทำพฤติกรรมที่ไม่ดีซ้ำ ๆ ส่งผลให้ลูกเป็นเด็กเอาแต่ใจ เกเร และก้าวร้าวได้ ทางที่ดีมาตัดไฟตั้งแต่ต้นลม หล่อหลอมให้เจ้าหนูเป็นเด็กที่น่ารัก คุณแม่ก็สบายใจด้วยดีกว่าไหมค่ะ

สอนลูกในวัย จอมวายร้าย

           ต้องมีความมั่นคงในการสอนลูก พ่อและแม่ ต้องสอนลูกไปในทิศทางเดียวกันถ้าอะไรที่ตกลงกันไว้ว่าทำได้ก็ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้และสอนลูกไปในทิศทางเดียวกัน ห้ามใจอ่อน เช่นแม่ห้ามไม่ให้เล่นกรรไกร แต่พ่อสงสารลูก เห็นลูกร้องก็หยิบกรรไกรมาให้เล่น ผลเสียคือ เด็กจะไม่เกิดการเรียนรู้อะไร และอาจเป็นอันตราย

           ดังนั้นถ้าเด็กค่อย ๆ เรียนรู้สิ่งที่ต้องห้าม ต่อไปเค้าก็จะเข้าใจ เขาก็จะไม่ทำสิ่งเหล่านั้น เช่น เด็กวีนแม่ที่ไม่ให้เขาเล่นกรรไกร ลงไปนอนดิ้นกับพื้นแล้วร้องจะเล่นให้ได้ ถ้าแม่ยอมให้เค้าเล่น เค้าก็จำได้ว่าใช้วิธีลงไปวีนแบบนี้แล้วก็ได้ เขาก็เอาชนะทุกครั้งไป แต่ว่าถ้าเราไม่ให้ เวลาอยากได้ เขาลงไปดิ้นสัก 3- 4 รอบเขาก็จำได้ว่าไม่มีประโยชน์

           กติกาต้องมาก่อน การตั้งกติกาสามารถช่วยให้จัดการปัญหาง่ายขึ้น อย่างเช่นวันนี้ตกลงกันว่าจะไปเที่ยวที่นี่กันนะ เวลาไปหนูจะไม่ร้อง จะไม่เอานู่นนี่นะ การทำข้อตกลงกันนั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการโวยวายขึ้น เด็กก็จะเข้าใจ แต่พอเวลาไปถึงจริง ๆ แล้วเด็กเกิดไม่ทำตามกติกา อาละวาดจะเอาอย่างเดียว ลงไปนอนดิ้นกับพื้น กรีดร้อง คุณแม่ก็ควรปล่อยให้เขาดิ้นไป อย่าไปยอมตามใจเค้า ปล่อยให้เขาลงไปนอนดิ้นสักชั่วโมงให้เค้าเหนื่อยเค้าก็เงียบเอง หากเป็นแบบนี้สัก 3-4 ครั้งคราวหน้าคราวหลังเค้าก็จะไม่ทำอีก เพราะเขาเรียนรู้ว่าทำไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

           ในขณะเดียวกันหากลูกร้อง ลงไปนอนดิ้น ๆ กับพื้น คุณแม่ยอมเพราะเหตุผลอะไรก็ตามแต่ เด็กก็จะเรียนรู้แล้วว่าถ้าแม่ไม่ให้ต้องลงไปนอนดิ้นเดี๋ยวก็ได้เอง คราวหน้าเค้าก็จะทำแบบเดิมอีก แต่ถ้าแม่ทำโทษเค้า ด้วยการตีอย่างรุนแรงนั้นถือเป็นการตอบสนองที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นแล้วมาเรียนรู้การทำโทษที่เหมาะสมดีกว่าค่ะ

ทำโทษด้วยเหตุผล

           การทำโทษเด็กเล็ก ๆ นั้น สามารถทำได้ ในบางกรณีต้องมีการลงโทษเพื่อฝึกระเบียบวินัยให้ลูกน้อย และให้เขาเรียนรู้ว่าสิ่งไหนควรทำได้ สิ่งไหนห้ามทำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการทำโทษจะต้องอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล ไม่ใช่ใช้อารมณ์เป็นตัวตัดสินการลงโทษลูกน้อย ซึ่งหลักในการการทำโทษมีดังนี้

           ต้องเป็นวิธีที่ไม่รุนแรง ไม่ใช้วิธีที่ทำให้ลูกเจ็บ หรือกลัว แต่การลงโทษต้องทำให้เขารู้ว่าอันนี้คือสิ่งที่ไม่ถูกต้องนะ ถ้าหนูทำแบบนี้แม่จะต้องลงโทษหนูนะ การลงโทษที่ไม่รุนแรงได้แก่

           การจำกัดสถานที่ อาจจะให้เขาอยู่แต่ในห้อง ห้ามออกไปจากห้องจนกว่าจะได้รับอนุญาต

           กำจัดของที่เขาจะต้องเล่นต้องใช้ เช่น ไม่ให้เล่นของเล่นนี้ 1 วัน หรือจนกว่าแม่จะพอใจ

            งดค่าขนม หรือหักค่าขนม อาจจะแลกด้วยงานบางอย่างแทน เช่น ทำงานบ้าน หรือช่วยเก็บของ เหล่านี้เป็นต้น

           ต้องทำโทษในสิ่งที่ลูกทำผิด ไม่ใช่ลูกไม่รู้ บางอย่างเด็กจะทำโดยไม่รู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น ทำแก้วแตก ทำน้ำหก กรณีแบบนี้ถือเป็นเรื่องสุดวิสัย คุณแม่ไม่ควรทำโทษลูก แต่ควรตักเตือนเค้าให้รู้จักระมัดระวัง

           ในทุกครั้งที่ลงโทษต้องบอกเหตุผล ถึงแม้เด็กจะไม่เข้าใจเหตุผล แต่เขาก็รู้ว่าที่เขาทำแบบนี้พ่อแม่ไม่ชอบนะ แล้วก็จะต้องถูกลงโทษแบบนี้ การลงโทษด้วยความรุนแรงจะทำให้เด็กจำพฤติกรรมนี้ คงเป็นไปไม่ได้ที่ไม่อยากให้ลูกกระทำรุนแรง เช่น ไม่อยากให้ลูกตีเด็กคนอื่น แต่แม่กลับลงโทษด้วยการตีลูกแทน อย่างนี้ก็ย่อมไม่มีทางสำเร็จได้แน่